
Data Innovation and Governance Institute, DIGI.
1521 ยอดรับชม
วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรม
หลายคนไม่รู้! Data กับ Information ความหมายต่างกันอย่างไร?
11 Jul 2022
ทำความรู้จักกับ Data และ Information ที่หลายคนเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า Data กับ Information ต่างกันอย่างไร พร้อมกับยกตัวอย่างเพื่อให้ผู้สามารถแยก Data กับ Information ได้ชัดเจน
หลายคนไม่รู้! Data กับ Information ความหมายต่างกันอย่างไร?
หลายคนที่เพิ่งเริ่มหัดเป็นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล การศึกษาและทำความเข้าใจในเรื่องของข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งหลายคนที่เคยอ่านหนังสือหรือบทความมาหลายบทความอาจจะผ่านตากับคำว่า Data และ Information กันมาบ้าง
ซึ่งก็คงเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า “อ้าว Data แปลเป็นไทยว่าข้อมูลส่วน Information ก็แปลเป็นไทยว่าข้อมูลเหมือนกัน แล้วทั้ง 2 คำมันแตกต่างกันอย่างไรหล่ะ?”
ดังนั้นวันนี้ DIGI จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ Data และ Information ที่หลายคนเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า Data กับ Information ต่างกันอย่างไร พร้อมกับยกตัวอย่างเพื่อให้ผู้สามารถแยก Data กับ Information ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นครับ
Data vs Information ความเหมือนที่แตกต่างกัน
ข้อมูล (Data) เป็นข้อมูลดิบหรือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการเก็บบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ โดยที่ข้อมูลสามารถอยู่ในรูปแบบของตัวอักษร ตัวเลข หรือจะเป็นสัญลักษณ์อะไรก็ได้ ข้อมูลที่เกิดขึ้นจะต้องเกิดแค่กระบวนการบันทึกเท่านั้นโดยยังไม่ผ่านกระบวนการวิเคราะห์หรือแปลงสภาพ ตัวอย่างเช่น จำนวนผู้ติดเชื้อ Covid-19, ราคาน้ำมันในแต่ละวัน, จำนวนคนที่มาลงคะแนนเลือกตั้งผู้ว่า กทม. เป็นต้น
สารสนเทศ (Information) คือข้อมูลที่ผ่านการคิด วิเคราะห์ ตีความหมายแล้ว โดยคนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าเป็นข้อมูลเหมือนกับ Data แต่ในความเป็นจริงแล้ว Information ต้องผ่านกระบวนการอะไรบางอย่างเพื่อให้เกิดความหมายและสามารถนำเอาค่าเหล่านั้นมาแปรผลเพื่อให้เกิดความเข้าใจในรูปแบบใหม่
เช่น จำนวนผู้ติดเชื้อ Covid-19 คือ Data แต่เรานำเอาข้อมูลมาเข้ากระบวนการทางสถิติจะได้ออกมาว่าค่าเฉลี่ยของอายุผู้ติดเชื้อ Covid-19 สิ่งนี้จะเรียกว่า Information เพราะผ่านกระบวนการเรียบร้อยแล้ว หรือราคาน้ำมันที่เปลี่ยนแปลงในรอบเดือนอันนี้ก็จะนับเป็น Information เช่นกัน
เพราะผ่านกระบวนการทำให้เกิดความเข้าใจใหม่โดยกระบวนการแปลงข้อมูล (Processing) จะประกอบไปด้วย 7 รูปแบบได้แก่
- Calculation เป็นการนำเอา Data มาผ่านกระบวนการคำนวณทางคณิตศาสตร์เผื่อให้เกิดความหมายในรูปแบบใหม่
- Sorting เป็นการนำเอา Data มาเรียงลำดับอาจจะเป็นจากมากไปน้อยหรือน้อยไปมากก็ได้
- Retrieving เป็นการดึงข้อมูลมาใช้เพื่อเป็นการค้นหาข้อมูลที่ต้องการเพิ่มเติม เช่นการทราบข้อมูลที่อยู่ของคนที่มาใช้สิทธิเลือกตั้ง
- Merging เป็นการรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ข้อมูล 2 ชุดขึ้นไปรวมกันเป็นข้อมูลชุดเดียว
- Summarizing เป็นการสรุปข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบที่มีความกระชับและความเข้าใจได้ง่ายมากยิ่งขึ้น เช่น การหาค่าเฉลี่ย
- Reproducing เป็นการสร้างข้อมูลชุดใหม่ขึ้นมาจากข้อมูลชุดเดิม
- Updating เป็นการปรับปรุงชุดข้อมูลเก่าให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น
ตัวอย่าง Data และ Information
ที่มา : ตารางรายงาน COVID-19 ประจำวัน ข้อมูลประจำประเทศไทย
ตารางข้างต้นแสดงถึงข้อมูล (Data) ของผู้ติดเชื้อ Covid-19 ประจำวันของประเทศไทยซึ่งเป็นข้อมูลที่เก็บมาจากคนไข้โดยยังไม่ผ่านกระบวนการแปลงสภาพดังนั้นตารางข้างต้นจึงเรียกว่า Data
แต่หากเรานำเอาข้อมูลเหล่านี้มาผ่านกระบวนการเช่น ถ้าเรานำข้อมูลมาผ่านกระบวนการเรียงลำดับข้อมูล (Sorting) ก็จะทราบว่าผู้ป่วยที่มีอายุน้อยสุดอยู่ที่ 12 ปี และผู้ป่วยที่มีอายุมากสุดอยู่ที่ 55 ปี ถ้าผ่านกระบวนการสรุปผลข้อมูลก็จะพบว่าผู้ป่วยมีจำนวนทั้งสิ้น 12 คนเป็นเพศชาย 4 คน เพศหญิง 8 คนโดยส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการสอบสวนโรคเป็นต้น ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดเรียกว่า Information
สรุป
การเข้าใจถึงความหมายความถูกต้องของทั้ง Data และ Information นั้นนอกจากจะช่วยให้คนที่กำลังเริ่มต้นจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลนั้นสามารถจัดการกับ Data และ Information ได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังช่วยให้การทำงานกับข้อมูลมีความสะดวกรวดเร็วและไม่เกิดความสับสนเวลาจะสื่อสารกับผู้อื่น รวมไปถึงทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเมื่อเวลาต้องการจะเลือกใช้งานว่ากระบวนการนี้ต้องเลือกใช้เป็น Data หรือ Information
ที่มา
- http://learn.gistda.or.th/2017/04/04/ข้อมูล-data-สารสนเทศ-information/
- https://sites.google.com/site/mis5830122113308/3/3-khxmul-data-laea-sarsnthes-information-taek-tang-kan-xyangri
- https://www.mindphp.com/บทความ/31-ความรู้ทั่วไป/4088-data-processing.html
- https://data.go.th/dataset/covid-19-daily
Like 0
คำไม่ถูกต้อง กรุณาลองใหม่อีกครั้ง
ความคิดเห็น (0)