user name
Data Innovation and Governance Institute, DIGI.
350 ยอดรับชม

วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรม

เจาะลึก! ข้อมูลปฐมภูมิ vs ข้อมูลทุติยภูมิ คืออะไร ต่างกันยังไง?

06 Jul 2022

แหล่งข้อมูลมีกี่ประเภท: ข้อมูลปฐมภูมิ vs ข้อมูลทุติยภูมิ คืออะไร? 

เชื่อว่าการหาข้อมูลจาก “แหล่งข้อมูล” น่าจะเป็นสิ่งที่หลายๆคนทำกันเป็นอันดับแรกเวลาที่ต้องการจะเริ่มโครงการ, ศึกษาข้อมูลเพื่อแก้ปัญหา หรือวิจัยเรื่องอะไรบางอย่าง เพราะแหล่งข้อมูลถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้ของการนำข้อมูลไปใช้งาน

 

แหล่งข้อมูลมีกี่ประเภท อะไรบ้าง?

ทุกวันนี้โลกเรามีการผลิตข้อมูลจากแหล่งข้อมูลจำนวนมหาศาล ซึ่งแหล่งข้อมูลเหล่านี้จะมีการแบ่งหลักๆได้เป็น 2 ประเภทได้แก่ แหล่งข้อมูลปฐมภูมิ (primary source) และแหล่งข้อมูลทุติยภูมิ (secondary source) หรือบางแห่งอาจแบ่งประเภทให้มีแหล่งข้อมูลตติยภูมิด้วย แต่ไม่ก็ค่อยเป็นที่นิยมมากนัก

 

ทำให้เวลาที่เลือกจัดประเภทของข้อมูล “โดยใช้แหล่งข้อมูลเป็นเกณฑ์” เราก็จะสามารถแบ่งข้อมูลได้เป็น 2 ประเภทเช่นกันคือ ข้อมูลปฐมภูมิ (primary data) และ ข้อมูลทุติยภูมิ (secondary data)

 

สำหรับวันนี้ DIGI จะพาคุณไปเจาะลึกกันว่า ข้อมูลปฐมภูมิและข้อมูลทุติยภูมิคืออะไร และมีตัวอย่างอะไรบ้างที่เจอกันบ่อยๆ ถ้าพร้อมแล้วเราไปดูกันเลยครับ!

 

ข้อมูลปฐมภูมิ (primary data)

ข้อมูลปฐมภูมิ คืออะไร?

ข้อมูลปฐมภูมิ (primary data) คือ ข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาจากแหล่งข้อมูลโดยตรง หรือแหล่งข้อมูลปฐมภูมิ หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็น “ข้อมูลดิบ” ซึ่งถ้าเป็นมุมมองของการทำงานวิจัยจะหมายถึง ข้อมูลที่นักวิจัยไปเก็บมาด้วยตัวเองด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การสำรวจ, การสัมภาษณ์,การสนทนากลุ่ม, การวัดจากอุปกรณ์ หรือการทดลอง

 

ตัวอย่างข้อมูลปฐมภูมิ มีอะไรบ้าง? 

  • ข้อมูลงานวิจัยของนักศึกษา เนื่องจากงานวิจัยหลายๆเรื่องมีความเฉพาะด้าน จึงอาจจะยังไม่มีข้อมูลอ้างอิงที่นำไปใช้ได้เลย นักศึกษาจึงมักจะต้องเก็บข้อมูลด้วยตัวเองโดยวิธีการต่างๆ เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้อ้างอิงในงานวิจัย
  • ข้อมูลการวิจัยตลาด เวลาที่องค์กรจะออกผลิตภัณฑ์หรือบริการมักจะต้องมีการสำรวจตลาดในด้านต่างๆ เช่น ความต้องการซื้อ กำลังซื้อ หรือคุณลักษณะของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย เนื่องจากแต่ละธุรกิจมีความเฉพาะตัว จึงมักจะต้องเก็บรวมรวมข้อมูลเอง
  • ข้อมูลที่รวบรวมจากหน่วยงานภาครัฐ เป็นข้อมูลที่เก็บรวบรวมโดยหน่วยงานจากภาครัฐที่มีความเชี่ยวชาญและมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆโดยตรง ทำให้มีความถูกต้องและน่าเชื่อถือสูง 

 

ประโยชน์ของข้อมูลปฐมภูมิ 

  • ข้อมูลปฐมภูมิจะมีความเฉพาะเจาะจงต่อความต้องการของผู้วิจัย ทำให้ผู้วิจัยสามารถตัดสินใจได้ว่าจะใช้การออกแบบวิธีการเก็บข้อมูล และเทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลแบบใด
  • ข้อมูลปฐมภูมิจะมีความถูกต้องแม่นยำกว่าเมื่อเทียบกับข้อมูลทุติยภูมิ เนื่องจากข้อมูลจะไม่อยู่ภายใต้อคติส่วนบุคคลจึงทำให้สามารถเชื่อถือได้
  • ผู้วิจัยสามารถแสดงความเป็นเจ้าของข้อมูลที่รวบรวมผ่านการวิจัยได้ โดยอาจเลือกที่จะเผยแพร่ต่อสาธารณะเป็นข้อมูลเปิด จดสิทธิบัตร หรือแม้แต่ขายมันได้
  • ข้อมูลปฐมภูมิมักจะเป็น “ข้อมูลล่าสุด” เนื่องจากรวบรวมข้อมูลตามเวลาจริงและไม่ได้รวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลเก่า

 

จุดด้อยของข้อมูลปฐมภูมิ

  • การเก็บรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิมีราคาแพงมากเมื่อเทียบกับข้อมูลทุติยภูมิ เนื่องจากต้องใช้ทรัพยากรมากกว่า และใช้เวลานานกว่าในการเก็บรวบรวมข้อมูล
  • หลายครั้งก็อาจเป็นไปไม่ได้ที่จะรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิในบางกรณี เนื่องจากความซับซ้อนและข้อจำกัดของแหล่งข้อมูล

 

ข้อมูลทุติยภูมิ (secondary data)

ข้อมูลทุติยภูมิ คืออะไร? 

ข้อมูลทุติยภูมิ (secondary data) คือ ข้อมูลที่ถูกเก็บรวบรวมอย่างเป็นระบบไว้แล้วโดยหน่วยงานหรือนักวิจัยคนก่อนหน้า สามารถนำไปใช้งานต่อยอด หรือใช้อ้างอิงได้เลยโดยไม่ต้องเก็บรวบรวมข้อมูลใหม่ด้วยตัวเอง

 

ตัวอย่างข้อมูลทุติยภูมิ มีอะไรบ้าง? 

  • ข้อมูลที่รวบรวมโดยนักวิจัยคนก่อน ข้อมูลส่วนใหญ่ที่ใช้อ้างอิงในงานวิจัยมักจะมาจากงานวิจัยก่อนหน้าที่มีความใกล้เคียงและเกี่ยวข้องกัน จึงสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาปรับใช้และต่อยอดได้ ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาในการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยตัวเองใหม่
  • หนังสือหรือสื่อเผยแพร่ประเภทต่างๆ เป็นการนำข้อมูลมาย่อยและประมวลผลเพื่อเผยแพร่ให้ผู้รับสารเข้าใจง่าย สามารถนำมาใช้เป็นแหล่งข้อมูลได้ แต่ควรตรวจสอบความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล
  • ชุดข้อมูลเปิดที่เผยแพร่โดยภาครัฐ เป็นข้อมูลสาธารณะจากภาครัฐที่ทุกคนสามารนำไปใช้ได้โดยอิสระ เช่น การนำไปใช้ การนำกลับมาใช้ใหม่ หรือนำไปเผยแพร่ได้โดยใครก็ตาม ซึ่งจะมีการจัดทำให้อยู่ในรูปแบบที่สามารถนำไปใช้งานได้ง่าย และต่อยอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ชุดข้อมูลสินค้าเกษตรไม้ผล 6 สินค้า ปริมาณ มูลค่า ส่งออกและนำเข้า จากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

 

ประโยชน์ของข้อมูลทุติยภูมิ 

  • ข้อมูลทุติยภูมิสามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่าเมื่อเทียบกับข้อมูลปฐมภูมิ
  • ข้อมูลทุติยภูมิมีราคาไม่แพงมาก หรืออาจไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเลยถ้าเป็นข้อมูลเปิด
  • ข้อมูลทุติยภูมิจะใช้เวลาไม่นานในการรวบรวม เมื่อเทียบกับข้อมูลปฐมภูมิ
  • ข้อมูลทุติยภูมิสามารถต่อยอดและสร้าง insight ใหม่ๆให้กับข้อมูลปฐมภูมิ

 

จุดด้อยของข้อมูลทุติยภูมิ 

  • ข้อมูลทุติยภูมิบางส่วนอาจไม่ถูกต้องหรือเกินจริง เนื่องจากอคติส่วนบุคคลของแหล่งข้อมูล นักวิจัยอาจต้องตรวจสอบข้อมูลที่รวบรวมจากแหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
  • นักวิจัยอาจต้องจัดการกับข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องก่อนที่จะพบข้อมูลที่ต้องการ เนื่องจากข้อมูลทุติยภูมิอาจไม่เฉพาะเจาะจงกับสิ่งที่ต้องการวิจัย
  • ข้อมูลทุติยภูมิจากบางแหล่งอาจล้าสมัย เพราะไม่มีข้อมูลใหม่มาแทนที่แหล่งข้อมูลเก่า

 

สรุป

เราสามารถแบ่งประเภทของข้อมูลโดยใช้แหล่งข้อมูลเป็นเกณฑ์ได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ ข้อมูลปฐมภูมิ (primary data) และ ข้อมูลทุติยภูมิ (secondary data) โดยข้อมูลปฐมภูมิจะเป็นข้อมูลที่เก็บมาจากแหล่งข้อมูลดั้งเดิมโดยตรง ส่วนข้อมูลทุติยภูมิจะเป็นข้อมูลที่ถูกเก็บรวบรวมและประมวลผลเอาไว้แล้ว 

ซึ่งข้อมูลแต่ละประเภทจะมีทั้งประโยชน์และจุดด้อยที่ต่างกัน ควรตรวจสอบความถูกต้องให้ดีและเลือกให้เหมาะสมกับความต้องการในการใช้งาน

Like 0

user name

คำไม่ถูกต้อง กรุณาลองใหม่อีกครั้ง

ความคิดเห็น (0)