user name
Data Innovation and Governance Institute, DIGI.
309 ยอดรับชม

วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรม

ย้อนดูวิวัฒนาการของ Big Data ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน !

08 Jul 2022

ทำความรู้จักกับประวัติศาสตร์วิวัฒนาการของ Big Data ซึ่งเป็นองค์ความรู้หลักที่นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลทุกคนต้องเรียนรู้แต่หลายคนอาจจะยังไม่เคยทราบที่มาที่ไปว่ากว่าจะมาเป็น Big Data ที่เราใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลทุกวันนี้นั้นมีความซับซ้อนหรือความน่าสนใจอย่างไรกันบ้าง

ย้อนดูวิวัฒนาการของ Big Data ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน !

หลายคนที่ให้ความสนใจอยากจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลส่วนใหญ่มักจะเริ่มศึกษาจากความรู้ทางด้านการเขียนโปรแกรม วิชาสถิติ หรือความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการนำข้อมูลไปประยุกต์ใช้ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนแล้วแต่มีความสำคัญต่อการเป็นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล 

 

แต่ในทางกลับกันวิชาทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเพียงแค่ความรู้ทางด้านศาสตร์ ซึ่งถ้าอยากจะให้องค์ความรู้ของเราครบถ้วนสมบูรณ์ต้องรวมเอาความรู้ทางด้านศิลป์เข้าไปด้วย โดยองค์ความรู้ทางด้านศิลป์ที่มีความสำคัญและเป็นการศึกษาให้รู้ถึงที่มาที่ไปของวิชาในแต่ละแขนงนั่นคือการศึกษาประวัติศาสตร์ 

 

ดังนั้นวันนี้ DIGI จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับประวัติศาสตร์วิวัฒนาการของ Big Data ซึ่งเป็นองค์ความรู้หลักที่นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลทุกคนต้องเรียนรู้แต่หลายคนอาจจะยังไม่เคยทราบที่มาที่ไปว่ากว่าจะมาเป็น Big Data ที่เราใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลทุกวันนี้นั้นมีความซับซ้อนหรือความน่าสนใจอย่างไรกันบ้างครับ

 

300 ปีก่อนคริสตกาล จุดเริ่มต้นของการใช้ Big Data

 

คำว่า Big Data หลายคนอาจจะรู้สึกว่าเป็นคำศัพท์ใหม่ที่เกิดขึ้นได้ไม่นานและกลายมาเป็น Trend ในอุตสาหกรรมยุคปัจจุบัน หันไปทางไหนก็มีแต่คนพูดถึง Data Science หรือ Big Data เต็มไปหมด ซึ่งคำจำกัดความว่า Big Data นั้นเพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นานจริง 

 

แต่ถ้าให้อธิบายลงไปถึงความหมายของ Big Data ว่าคือการจัดเก็บข้อมูลในปริมาณมหาศาลนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ในยุคปัจจุบัน จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ของโลกเกี่ยวกับเรื่องการจัดเก็บข้อมูลคงต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ 300 ก่อนคริสตกาลโดยบุคคลที่เป็นคนริเริ่มกระบวนการรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลรวมเอาไว้คือกษัตริย์ Ptolemy I 

 

Ptolemy มีเป็นกษัตริย์องค์แรกภายใต้ราชวงศ์ Ptolemaic ซึ่งก่อนจะมาเป็นกษัตริย์นั้นเคยเป็นคนสนิทของ Alexander the Great มาเนิ่นนานจนทำให้ Alexander ไว้วางใจด้านการปกครอง การรบ และการทหารกระทั่งจน Alexander สิ้นพระชนม์จึงได้รับส่วนแบ่งดินแดนของ Alexander มาปกครองหนึ่งในนั้นมีเมือง Alexandria ซึ่งก็คือส่วนหนึ่งของประเทศอียิปต์ในปัจจุบัน 

 

ซึ่ง Ptolemy มีอุปนิสัยในการรักการอ่านและการเรียนรู้ส่งผลให้เขาชอบที่จะเก็บรวบรวมหนังสือต่าง ๆ จากทั่วโลกนักเดินทางคนใดเดินทางผ่านเข้ามาในเมืองจะทำการยึดหนังสือเพื่อนำเอาไปทำสำเนาเพื่อเก็บไว้ในห้องสมุดส่วนพระองค์แล้วคืนหนังสือกลับไปยังเจ้าของ จากการเก็บสำเนาที่มีจำนวนมากถึง 400,000 สำเนาส่งผลให้เกิดห้องสมุดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกนั้นเรียกว่า “ห้องสมุดอเล็กซานเดรียแห่งประเทศอียิปต์” ตรงนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดเก็บข้อมูลในลักษณะของ Big Data 

 

แต่ถ้าจะพูดถึงในเรื่องการนำเอา Big Data มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์นั้นจะต้องกล่าวถึงจักรวรรดิโรมันซึ่งในยุคนั้นไม่มีใครไม่รู้จักแสนยานุภาพของกองทัพโรมันโดยความลับที่ทำให้กองทัพโรมันมีความแข็งแกร่งรบชนะศัตรูมากมายนั้นคือการประยุกต์ใช้วิชาคณิตศาสตร์กับวิชาสถิติเข้ากับข้อมูล 

 

โดยกองทัพโรมันจะทำการเก็บรวบรวมข้อมูลของศัตรูเพื่อที่จะทำนายว่ามีจำนวนทหารศัตรูอยู่เท่าไร เพื่อช่วยให้การจัดจัดการทหารในกองทัพนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้นส่งผลให้จักรวรรดิโรมันสามารถเอาชนะกองทัพศัตรูได้อย่างไม่ยากเย็น

 

Alan Turing ผู้ซึ่งเป็นบิดาของคอมพิวเตอร์

 

Big Data กับบทบาทสำคัญในยุคสงครามโลก 

 

ในยุคถัดมานั้นบทบาทของ Big Data มักจะไปเกี่ยวกับข้องกับทางการทหารเป็นส่วนใหญ่เพราะการที่จะมีเครื่องมือที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลในปริมาณมหาศาลได้นั้นจำเป็นจะต้งใช้งบประมาณรวมไปถึงทรัพยากรในการลงทุนไปกับอุปกรณ์และเครื่องมือเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการที่จะมีเครื่องมือเหล่านี้ได้ในยุคนั้นก็คงต้องเป็นระบบทหารที่ใช้ในสงคราม 

 

ซึ่งถ้าจะพูดถึงเรื่องราวของการประยุกต์ใช้ Big Data จนนำไปสู่การเกิด Machine Learning ชิ้นแรกของโลกที่มีความน่าสนใจและมีชื่อเสียงมากจนถึงขั้นนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์คงจะเป็นเรื่องราวของ Alan Turing ผู้ซึ่งเป็นบิดาของคอมพิวเตอร์ Alan เกิดในปี 1912 ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เรียบจบด้วยเกรดนิยมอันดับ 1 ในสาขาวิชาคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ต่อมาได้จบปริญญาโทและปริญญาเอกจากศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน

 

โดยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่ Alan กำลังเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ได้ถูกเกณฑ์โดนรัฐบาลอังกฤษให้ไปช่วยถอดรหัสลับ “Enigma” ซึ่งเป็นเครื่องส่งสัญญาณลับจากฝ่ายนาซี ซึ่งการทำงานของเครื่อง Enigma คือการนำเอาคำศัพท์มาสลับตัวอักษรใหม่ทำให้เกิดชุดข้อมูลที่ไม่สามารถแปรผลได้เป็นจำนวนกว่า 159 ล้านล้านรูปแบบ ทำให้ Alan ต้องใช้ความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์ในการแปลงรหัสอักษรพวกนี้โดยใช้เครื่องมือชื่อว่า “Bombe” 

 

Bombe

 

โดยอาศัยระบบการเรียนรู้รหัสลับนาซีที่ส่งมาทุกวันจนทำให้สามารถถอดรหัสลับได้ภายในเวลา 20 นาทีส่งผลให้ฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถคิดยุทธวิธีในการตอบโต้นาซีจนทำให้สงครามโลกครั้งที่ 2 จบได้ภายในเวลาอันรวดเร็วทำให้ไม่เกิดความเสียหายไปมากกว่าที่ควรเป็น ซึ่งเครื่องมือ Bombe นี่เองคือต้นแบบของ Machine Learning ในยุคนั้น 

 

Globalization จุดเริ่มต้นของ Big Data สมัยใหม่ 

 

หลังจากผ่านช่วงสงครามโลกมาเป็นช่วงที่นานาชาติได้มีการพัฒนาองค์ความรู้ต่าง ๆ ทำให้เกิดเทคโนโลยีใหม่จนทำให้เกิดโลกาภิวัตน์ขึ้นมาที่โลกสามารถติดต่อสื่อสารไปมาหากันได้อย่างอิสระ ซึ่งองค์ความรู้ทางด้าน Big Data ก็พัฒนาอย่างต่อเนื่องตามการเติบโตของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ โดยในช่วงนี้เป็นช่วงของการแข่งขันทางด้านธุรกิจดังนั้นเครื่องมือที่จะทำให้การแข่งขันของแต่ละองค์กรเกิดความได้เปรียบนั่นคือข้อมูล 

 

กรณีตัวอย่างที่ทำให้เห็นภาพชัดเจนของพลังในการใช้ข้อมูลเพื่อต่อยอดธุรกิจนั่นคือเรื่องของเบียร์และผ้าอ้อมของ Walmart เกิดจากการสังเกตของพนักงานที่ทำงานโดยพบว่าผู้ชายมักที่มาซื้อเบียร์ในวันศุกร์ช่วงเย็นมักจะหยิบผ้าอ้อมสำหรับเด็กในการซื้อของในครั้งนั้นด้วยทำให้เกิด Walmart เกิดไอเดียนำผ้าอ้อมเด็กว่างคู่กับเบียร์ส่งผลให้ยอดขายผ้าอ้อมเติบโตสูงขึ้นถึง 35% ซึ่งกระบวนเหล่านี้คือกระบวนการทำ Data Analytics คือการเก็บรวบรวม Data แล้วทำการหา Correlation เพื่อทำให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพของยอดขาย

 

การใช้ Big Data ของภาครัฐในปัจจุบัน 

 

การใช้งาน Big Data ของภาครัฐภายในประเทศไทยนั้นมีด้วยกันหลายภาคส่วนทั้งส่วนที่เป็นของภาครัฐเองด้วยการจัดเก็บข้อมูลเพื่อก่อให้เกิดการบริการของภาครัฐที่ตรงใจประชาชนและมีประสิทธิภาพมากที่สุดส่งผลให้ภาครัฐใช้งบประมาณน้อยลง รวมไปถึงนำมาใช้ในการวิเคราะห์ถึงสภาพอากาศเพื่อทำนายการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติทำให้จำกัดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น 

 

รวมไปถึงในปัจจุบันได้มีการจัดตั้งสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ขึ้นมาเพื่อพัฒนาระบบ Big Data ของประเทศไทยประกอบไปด้วยเว็บไซต์ https://data.go.th/ เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลเปิดที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้ามาดาวน์โหลดข้อมูลเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ รวมไปถึงได้มีการจัดตั้ง Data Community ของไทยให้บุคคลที่ต้องการศึกษาความรู้เพื่อเป็นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลเข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้กัน

 

สรุป

การจะศึกษา Big Data นั้นการเรียนรู้ทั้งในด้านศาสตร์การเขียนโปรแกรม วิชาทางสถิติ เพื่อพัฒนาความรู้ของตนเองนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้เรียนรู้เกิดความชำนาญในการวิเคราะห์ข้อมูล แต่จะให้เข้าใจถึงหลักและแก่นของวิชามากยิ่งขึ้นการศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมากว่าจะเป็น Big Data ที่เราใช้กันทุกวันนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ

 

เพราะจะทำให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจถึงความสำคัญและการประยุกต์การใช้งานในชีวิตจริงมากยิ่งขึ้นเหมือนได้เห็นกรณีตัวอย่างในอดีตรวมไปถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นการเรียนรู้ในหลายด้านจะทำให้เรากลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลที่มีทักษะที่ดีและมีองค์ความรู้ที่รอบด้าน

 

ที่มา

Like 0

user name

คำไม่ถูกต้อง กรุณาลองใหม่อีกครั้ง

ความคิดเห็น (0)