user name
Data Innovation and Governance Institute, DIGI
2053 ยอดรับชม

การศึกษา

สรุปชัด! Infographic คืออะไร มีกี่รูปแบบ

28 Nov 2022

สรุปชัด! Infographic คืออะไร มีกี่รูปแบบ และหลักการออกแบบที่ดี

 

ทุกวันนี้หลายคนที่กำลังอยากจะเป็นนักวิเคราะห์ข้อมูล “Data Analyst” หรือนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล “Data Scientist” คงทราบถึงลักษณะและขั้นตอนในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลเป็นอย่างดี ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ากระบวนการทำงานดังกล่าวที่มีความยากและเป็นอุปสรรคของใครหลายคนคือ การ Cleaning Data หรือการทำความสะอาดข้อมูลให้พร้อมใช้งานกับขั้นตอน Modeling หรือการสร้างแบบจำลองโมเดลเพื่อที่จะใช้วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก 

 

แต่พอหลายคนได้เข้ามาทำงานจริงจะพบว่าขั้นตอนที่มีความท้าทายในการทำงานคือกระบวนการนำเสนอข้อมูล หรือการสรุปข้อมูลให้ออกมาเป็นรูปภาพเพื่อใช้ในการสื่อสารกับผู้ใช้งาน หรือลูกค้าโดยกระบวนการดังกล่าวถูกเรียกว่า “Data Visualization” 

 

หนึ่งในเครื่องสำคัญที่ช่วยให้กระบวนการนำเสนอข้อมูลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความสับสนในการสื่อสาร และยังช่วยเป็นจุดสนใจให้กับผู้ฟังเกิดความเข้าใจได้ง่ายขึ้นคือ Infographics 

 

ดังนั้นวันนี้ DIGI จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญสำหรับนักวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อใช้ในการนำเสนอข้อมูลให้กับผู้ฟังได้เข้าใจได้มากขึ้นคือ Infographics โดยเราจะมาทำความรู้จักว่า Infographics คืออะไร ประกอบไปด้วยกี่รูปแบบ หรือกี่ประเภท ตัวอย่างของ Infographics รวมไปถึงเครื่องมือที่จะช่วยเพิ่มความสะดวกในการทำ Infographics 

 

Infographics คืออะไร ความสำคัญและประเภทของ Infographics

Infographics ประกอบขึ้นมาจากคำ 2 คำได้แก่คำว่า Information หมายถึงข้อมูลที่ผ่านกระบวนการประมวลแล้ว กับคำว่า graphic ซึ่งเป็นการแสดงผลรูปแบบหนึ่งผ่านออกมาเป็นภาพ เมื่อนำเอาทั้งสองคำมารวมกันก็จะเกิดเป็นคำว่า Infographics หมายถึงการนำเสนอข้อมูลที่ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ให้ออกมาอยู่ในรูปแบบของสื่อนำเสนอที่เป็นรูปภาพ แผนภูมิ กราฟ หรือจะเป็นภาพเคลื่อนไหวก็ได้ 

 

ความสำคัญของ Infographics คือเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้นักวิเคราะห์ข้อมูลสามารถสื่อสาร นำเสนอข้อมูลที่มีความซับซ้อนและยากต่อการทำความเข้าใจ ให้ผู้ฟังหรือผู้รับสารเกิดความสนใจในข้อมูลด้วยการใช้องค์ประกอบของ Infographics เช่น รูปภาพที่สวยงาม สีสันที่น่าดึงดูด และการออกแบบที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจรวมไปถึงเพื่อให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจข้อมูลทั้งหมดในระยะเวลารวดเร็ว

 

Infographics สามารถแบ่งออกเป็นประเภทย่อยได้ทั้งหมด 7 ประเภทโดยจะเป็นการแบ่งตามวัตถุประสงค์ในการนำเสนอดังนี้

 

  • การนำเสนอข้อมูลทั่วไป (Information Infographics)

เป็นการนำเอาข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่พบจากข้อมูลนำเอามาสรุปออกมาเป็นรูปภาพ เน้นไปที่ความกระชับของข้อมูล และสีสันสวยงามเพื่อดึงดูดผู้อ่าน ซึ่งเป็นรูปแบบ Infographics ทั่วไปสามารถพบเห็นได้ตาม Social Media

 

  • การนำเสนอข้อมูลเชิงสถิติ (Statistics Infographics)

เป็นประเภท Infographics ที่นักวิเคราะห์ข้อมูลใช้บ่อยสุดเนื่องจากการจะสรุปข้อมูลจำนวนมหาศาลได้นั้นจำเป็นต้องอาศัยการคำนวณทางสถิติมาสรุปเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจง่าย ดังนั้นประเภทการนำเสนอของ Infographics ที่เป็นข้อมูลเชิงสถิติมักจะใช้แผนภูมิ กราฟ ต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจง่าย และไม่ให้ผู้อ่านรู้สึกว่าจะเข้าใจข้อมูลได้ยาก

 

  • การนำเสนอข้อมูลที่เป็นลำดับเวลา (Timeline Infographics)

วัตถุประสงค์ของการนำเสนอของ Infographics ในรูปแบบ Timeline เน้นไปที่การนำเสนอข้อมูลที่มีลำดับเวลาของข้อมูลเกิดขึ้น เพื่อที่จะเล่าที่มาที่ไปกว่าจะมาเป็นข้อมูล ซึ่ง Infographics ประเภทนี้จะมาช่วยทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจและเห็นลำดับได้อย่างชัดเจน

 

  • การนำเสนอข้อมูลที่เล่าเรื่องกระบวนการทำงาน (Process Infographics) 

เป็นการนำเสนอข้อมูลในรูปแบบ Infographics ที่มีความคล้ายคลึงกับ Timeline โดยจะเน้นไปที่การนำเสนอกระบวนการที่เป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจข้อมูลในรูปแบบที่เป็นลำดับขั้นตอน 

 

  • การนำเสนอข้อมูลเพื่อการเปรียบเทียบข้อมูล (Comparision Infograhpics)

เป็นการนำเสนอข้อมูลในรูปแบบของการนำเอาชุดข้อมูลสองชุดนำมาเปรียบเทียบข้อดี ข้อเสียหรือคุณสมบัติต่าง ๆ เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นภาพในเรื่องของความแตกต่างกันอย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้อ่านสามารถตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น

 

  • การนำเสนอข้อมูลในรูปแบบตามลำดับความสำคัญ (Hierarchical Infographics)

วัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอข้อมูลโดยแบ่งออกตามลำดับความสำคัญของข้อมูลแต่ละตัวเพื่อให้ผู้อ่านสามารถแยกได้ว่าข้อมูลใดสำคัญกว่ากันเพื่อช่วยในการตัดสินใจในบริบทต่าง ๆ

 

  • การนำเสนอข้อมูลที่เป็นข้อ (List Infographics)

การนำเสนอรูปแบบนี้วัตถุประสงค์เน้นไปที่การแจกแจงข้อมูลออกเป็นข้อโดยมักจะใช้กับข้อมูลที่มีลักษณะเป็นเหมือนการแนะนำเป็นข้อ ๆ เพื่อเป็นการสรุปเนื้อความให้ผู้อ่านเห็นออกมาเป็นข้อ

 

 

รูปแบบและองค์ประกอบของ Infographics พร้อมตัวอย่าง

การเรียนรู้ถึงองค์ประกอบของ Infographics มีความสำคัญมากเนื่องจากหากเราใส่องค์ประกอบของ Infographics ลงไปไม่ครบ หรือใส่เนื้อหาที่ไม่มีคุณภาพลงไปจะส่งผลให้ผู้อ่านเกิดความสับสน จนนำไปสู่การเข้าใจข้อมูลที่ผิดพลาดจนส่งผลให้เกิดความเสียหายในการตัดสินใจในขั้นตอนถัดไป โดยองค์ประกอบของ Infographics ประกอบไปด้วย 3 ส่วนได้แก่

 

  • ส่วนของหัวข้อ Infographics

การเขียนหัวข้อหรือพาดหัวของ Infographics นั้นมีความสำคัญมากเนื่องจากเป็นส่วนแรกที่ผู้อ่านจะ Focus ดังนั้นการตั้งชื่อหัวข้อให้มีความน่าสนใจ น่าดึงดูด รวมไปถึงหัวข้ออาจจะเป็นการสรุปเนื้อหาข้างในสักเล็กน้อยเพื่อที่จะได้สื่อสารให้ผู้อ่านเข้าใจว่าตนเองกำลังจะอ่านหรือทำความเข้าใจข้อมูลในเรื่องใด รวมไปถึงต้องมีความถูกต้องและชัดเจน ไม่ยาวจนเกินไป 

 

  • ส่วนของเนื้อหาของ Infographics

ส่วนของข้อมูลต้องมีความถูกต้อง ชัดเจน ไม่ยืดเยื้อมากจนเกินไป เพื่อให้ง่ายต่อการอ่าน และต้องระบุให้ชัดเจนว่าเนื้อหาแต่ละส่วนคือส่วนใดของข้อมูล

 

  • ความสวยงามและ Theme ของข้อมูล 

เป็นอีกส่วนที่มีความสำคัญมากเป็นอันดับต้น ๆ คือเรื่องของความสวยงามเนื่องจาก Infographics ที่มีความสวยงามจะช่วยดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน ทำให้ผู้อ่านเกิดตั้งใจในการรับข้อมูลที่ผู้วิเคราะห์ข้อมูลตั้งใจจะนำเสนอ รวมไปถึง Theme ในการนำเสนอก็มีความสำคัญมากเช่นกัน เช่นถ้าหากนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติการใช้ Theme สีเขียวก็จะช่วยให้เมื่อผู้อ่านเห็นในครั้งแรกก็รู้เลยว่าต้องนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ ทำให้ผู้อ่านไม่หลุด Focus 

 

ตัวอย่างของ Infographics ที่มีความน่าสนใจนำมาจาก Facebook ของ DIGI (Data Innovation and Governance Institute) 

 

เป็นการนำข้อมูลนักท่องเที่ยวต่างชาติย้อนหลัง 5 ปีนำเสนอออกมาเป็น Infographics 

 

หลักการออกแบบ Infographics ที่ดี และเครื่องมือที่จะช่วยออกแบบ

หลังจากที่ส่วนก่อนหน้าได้พูดถึงความหมาย ความสำคัญ รวมไปถึงองค์ประกอบของ Infographics ถัดมาก็จะมาพูดในส่วนของการออกแบบ Infographics ให้ดีและมีประสิทธิภาพเพื่อดึงดูดให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจ และสนใจในสิ่งที่เราต้องการจะนำเสนอ โดยสามารถสรุปออกมาได้เป็น 8 ข้อย่อย

  1. ให้ความสำคัญกับหัวข้อเนื่องจากเป็นสิ่งแรกที่ผู้อ่านจะให้ความสนใจ
  2. ให้ความสำคัญของข้อมูลว่าเป็นข้อเท็จจริงและถูกต้อง
  3. เน้นให้ Infographics เป็นตัวเล่าเรื่อง
  4. คำพูดใน Infographics ต้องกระชับ ไม่ยืดเยื้อมากจนเกินไป
  5. อย่าใช้สีสันมากเกินไปจนฉูดฉาด
  6. นำเสนอข้อมูลในรูปแบบที่ง่ายไม่ซับซ้อน
  7. การออกแบบ Infographics ที่ดีนำไปสื่อการนำเสนอที่มีประสิทธิภาพ
  8. อย่าใช้ข้อมูลมากจนเกินไป ให้เน้นไปที่ข้อมูลต้องการจะสื่อสารจริง ๆ

เครื่องมือที่ใช้ในการออกแบบ Infographics นั้นในยุคปัจจุบันมีให้เลือกมากมายขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้ออกแบบโดยโปรแกรมที่ใช้ออกแบบมีแต่ระดับเบื้องต้นสำหรับผู้ที่ไม่มีความรู้ หรือประสบการณ์ในการออกแบบ Infographics จนไปถึงระดับผู้เชี่ยวชาญสามารถปรับแต่งได้อย่างอิสระ 

 

รวมไปถึงอุปกรณ์ที่ใช้ทำ Infographics ไม่ได้จำกัดแค่คอมพิวเตอร์ บางโปรแกรมสามารถใช้งานบนสมาร์ทโฟนได้ตัวอย่างเช่น Canvas เป็นโปรแกรมช่วยออกแบบสำหรับมือใหม่จนถึงมือเก่า และสามารถใช้งานได้ทั้งบนคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน หรือถ้าในระดับของคนที่มีความรู้ความชำนาญแล้วสามารถเข้าไปใช้ Adobe Photoshop หรือแอพอื่น ๆ ได้

 

สรุป

การนำเสนอข้อมูลเป็นอีกหนึ่งองค์ความรู้สำหรับนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลและนักวิเคราะห์ข้อมูลที่มีความสำคัญมากและมักจะถูกละเลยจากหลายคน ทำให้การศึกษารวมไปถึงการฝึกฝนในการออกแบบเครื่องมือช่วยนำเสนอเช่น Infographics จะช่วยกระบวนการ Data Visualization เป็นไปอย่างราบลื่น ผู้อ่านเกิดความเข้าใจ และไม่เกิดความสับสน

ที่มา

 

Like 0

user name

คำไม่ถูกต้อง กรุณาลองใหม่อีกครั้ง

ความคิดเห็น (0)