Data Innovation and Governance Institute, DIGI
52 Views
Science, Digital Technology and Innovation
"Optimization Model" คืออะไร สำคัญยังไง ช่วยอะไรธุรกิจได้บ้าง?
22 Aug 2022
ทำความรู้จักกับกระบวนการทำ Optimization ว่าคืออะไร เกี่ยวข้องอย่างไรกับการวิเคราะห์ข้อมูล มีความแตกต่างกับการทำ Machine Learning อย่างไร
“Optimization Model” คืออะไร สำคัญยังไง ช่วยอะไรธุรกิจได้บ้าง?
สำหรับคนที่สนใจอยากที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลหรือ “Data Scientist” หรือปัจจุบันกำลังเรียนรู้ฝึกฝนทักษะที่เกี่ยวข้องกับสายงานด้านนี้มักจะเคยได้ยินและสนใจมุ่งมั่นที่จะทำงานเกี่ยวข้องกับ Machine Learning
เนื่องจากเป็นหนึ่งในเทคนิคในด้านการวิเคราะห์ข้อมูลที่จะเน้นการนำเอาข้อมูลมาผ่านกระบวนการวิเคราะห์เพื่อหาความสัมพันธ์กันระหว่างข้อมูลที่ป้อนเข้าไปร่วมกับผลลัพธ์ของชุดข้อมูลนั้นเพื่อที่จะใช้ในการทำนายอนาคตว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์หนึ่งขึ้นมา โอกาสที่ผลลัพธ์จะเกิดขึ้นนั้นจะเป็นไปในทิศทางใด
ส่งผลให้การทำ Machine Learning จึงเป็นที่นิยมสำหรับคนที่อยากจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล แต่อีกนัยหนึ่งก็ยังมีเทคนิคในด้านการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีความสำคัญกับการทำธุรกิจมาก และหลายคนที่เพิ่งเริ่มสนใจการเป็นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับเทคนิคนั่นคือการทำ “Optimization”
ดังนั้นวันนี้ DIGI จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับกระบวนการทำ Optimization ว่าคืออะไร เกี่ยวข้องอย่างไรกับการวิเคราะห์ข้อมูล มีความแตกต่างกับการทำ Machine Learning อย่างไร รวมไปถึงตัวอย่างการทำ Model optimization ในองค์กรเพื่อให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้นครับ
Optimization VS Machine Learning
Optimization คือกระบวนการหาจุดที่ดีที่สุด ซึ่งจะเป็นจุดสูงสุดหรือต่ำสุด (Maximize or MInimize) ก็ได้แต่จะต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดในการทำงาน (Constraints) การทำ Optimization เกิดขึ้นมาเพื่อหาวิธีการที่ดีที่สุดและประยุกต์เข้ากับกระบวนการทำงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อใช้แก้ปัญหาเรื่องเล็กน้อยในชีวิตประจำวันไปจนถึงการประกอบธุรกิจขนาดใหญ่
โดยกระบวนการทำ Optimization เป็นหนึ่งเทคนิคภายใต้กระบวนการทำ Machine Learning แต่จะแตกต่างกันตรงที่ Machine Learning จะเน้นไปที่นำเอา Data เข้ามาใช้เป็น Input และ Output เพื่อให้คอมพิวเตอร์คำนวณหาสมการที่จะสามารถทำนายผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
แต่ Optimiazation จะเน้นไปที่การเขียนสมการขึ้นมาเพื่อให้คอมพิวเตอร์ช่วยในการวิเคราะห์หาจุดที่เหมะสมที่สุด ดังนั้นจะสรุปให้ชัดเจนคือ Machine Learning เน้นการทำ Predictive Model แต่ Optimization เน้นการทำ Decision Analysis Model โดยคนที่ต้องการจะเรียนสาย Optimization จะเน้นไปที่การเรียนรู้ทางด้าน Linear Programing, Convex Programing และ Stochastic Process
ในส่วนของหลักการทำ Opimization ถ้าจะให้อธิบายอย่างง่ายสำหรับผู้ที่เรียนมาทางสายวิทยาศาสตร์อาจจะคุ้นเคยกับสมการเชิงเส้น (Linear Equation) เป็นอย่างดี ซึ่งสมการเชิงเส้นเป็นหนึ่งในวิธีการคำนวณหาจุด Optimization แบบพื้นฐานด้วยการนำเอาสมการเชิงเส้น 2 สมการจับมาเท่ากันเพื่อหาจุดตัดของสมการซึ่งจุดตัดคือจุด Optimization ภายใต้ข้อจำกัดคือตัวแปรของสมการ
ตัวอย่างการทำ Optimization ตั้งแต่ชีวิตประจำวัน ไปจนถึงองค์กรขนาดใหญ่
หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้อาจจะคิดว่าการทำ Optimization ดูเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ต้องใช้กระบวนการสร้างสมการที่ซับซ้อน ซึ่งในความเป็นจริงการทำ Optimization ไม่ได้ยุ่งยากขนาดนั้น ในทางกลับกันอาจจะเป็นแค่เรื่องง่าย ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเราทุกคน
ตัวอย่างเช่น วันนี้คุณตื่นสายแล้วมีประชุมด่วนต้องรีบไปถึงที่ทำงานให้ทันภายใน 30 นาที สมองเราก็จะคำนวณหาวิธีการเดินทางที่เร็วที่สุดเพื่อไปให้ทันการประชุม ทำให้เราตัดสินใจเปลี่ยนวิธีการเดินทางไปใช้รถจักรยานยนต์รับจ้างแทนการขึ้นรถโดยสารประจำทาง
จะเห็นได้ว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นคือ Optimization วิธีการเดินทางที่เร็วที่สุดโดยจุดประสงค์เพื่อหา Minimize ของเวลาภายใต้ Constraints คือทางด้านเวลา
ในส่วนของการประยุกต์ใช้ในองค์กรใหญ่ เช่น สายการบินจำเป็นจะต้องใช้การทำ Route Optimization เป็นอย่างมากเนื่องจากความต้องการของสายการบินคือการหารายได้ให้มากสุด ซึ่งการที่สายการบินจะเกิดรายได้มากที่สุด จะต้องจำกัดต้นทุนที่จะเกิดขึ้น นั่นคือต้องวางแผนเส้นทางการบิน ระยะเวลาในการบิน ผู้โดยสารที่จะขึ้นบินต่อรอบ รวมไปถึงจุดแวะเติมน้ำมันเพื่อให้เกิดต้นทุนต่ำที่สุด
ซึ่งการทำ Optimization ในองค์กรขนาดใหญ่จำเป็นต้องพึ่ง Machine Learning ในการช่วยวิเคราะห์สมการเพื่อหาจุดที่ทำให้บริษัทมีกำไรมากที่สุดเนื่องจากมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเป็นจำนวนมาก ดังนั้นในส่วนนี้จำเป็นจะต้องอาศัยความรู้ของนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลเข้ามาหาคำตอบให้กับองค์กร
สรุป
ในยุคที่ความรู้ทางด้านการวิเคราะห์ข้อมูลมีความนิยมมากขึ้น แต่ละองค์กรประยุกต์ความรู้เหล่านี้เข้ากับการดำเนินธุรกิจซึ่งหนึ่งในองค์ความรู้และเทคนิคที่สำคัญที่จะช่วยให้องค์กรยกระดับความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งได้คือการทำ Optimization
ซึ่งการทำ Optimization แค่เพียงไม่กี่สมการอาจส่งผลให้องค์กรเกิดกำไรมากขึ้นในระดับหลักล้านบาท ดังนั้นการทำ Optimization จึงมีความสำคัญมากสำหรับนักวิทยาศาสต์ข้อมูล การเรียนรู้และหาข้อมูลเพื่อพัฒนาตนเองในด้านนี้จะส่งผลประโยชน์ต่อทั้งตัวเองและในระดับองค์กร
Like 0
Incorrect words. Please try again.
Comments (0)